วันนี้เราจะมารู้จักกับการรักษานอนกรนที่ควรรู้กันนะคะ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการรักษาค่ะ
โดยการรักษานอนกรน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ผ่าตัด มีจุดประสงค์ทำให้ขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น ทำให้อาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับลดลง ควรพิจารณาวิธีนี้ ถ้าผู้ป่วยได้ลอง CPAP แล้วปฎิเสธการใช้ CPAP และเครื่องมือทางทันตกรรม ซึ่งการผ่าตัดจะทำมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งและสาเหตุของการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน การผ่าตัดไม่ได้ทำให้อาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจหายขาด หลังผ่าตัดอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจยังเหลืออยู่ หรือ มีโอกาสกลับมาใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สิ่งสำคัญ คือ
– ต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้ดี อย่าให้เพิ่ม เนื่องจากการผ่าตัดเป็นการขยายทางเดินหายใจที่แคบให้กว้างขึ้น ถ้าน้ำหนักเพิ่มหลังผ่าตัด ไขมันจะไปสะสมอยู่รอบผนังช่องคอ ทำให้กลับมาแคบใหม่ได้ ซึ่งจะทำให้อาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับกลับมาเหมือนเดิมหรือแย่กว่าเดิมได้
– ต้องหมั่นออกกำลังกายเสมอ ให้กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนตึงตัวและกระชับ เนื่องจากหลังผ่าตัด เมื่ออายุผู้ป่วยมากขึ้น เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนจะหย่อนยานตามอายุ ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกลับมาแคบใหม่ การออกกำลังกายแบบแอโรบิค อย่างสม่ำเสมอดังกล่าวข้างต้น จะช่วยให้การหย่อนยานดังกล่าวช้าลง
ในผู้ป่วยบางราย อาจต้องมาผ่าตัดซ้ำเพื่อแก้ไขทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบส่วนอื่นๆ หรือใช้เครื่อง CPAP หรือเครื่องมือทางทันตกรรม ร่วมด้วยหลังผ่าตัด ขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัด และจุดอุดกั้นทางเดินหายใจและความรุนแรงของโรค
2. ไม่ผ่าตัด
การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด สามารถเลือกได้หลายวิธี แล้วแต่คนไข้แต่ละคน เช่น
- การดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก ให้มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่
- การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือ CPAP เครื่องซีแพพ เป็นการรักษาที่ทำให้คุณภาพการนอนของคนไข้กลับไปเหมือนกับคนปกติ ได้ 100% เปรียบเสมือนกับยาหมอ ดังนั้นต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับตั้งค่าที่เหมาะสมให้ตามแต่ละบุคคล เป็นการซื้อเวลาที่จะให้คนไข้ไปจัดการกับต้นเหตุของการนอนกรนแต่ก็มีคนไข้กลุ่มหนึ่ง ประมาณ 50% ที่ไม่สามารถใช้งานเครื่อง CPAP ได้เนื่องจากเหตุผลหลากหลาย เช่น เสียงดัง พกพายาก เป็นต้น
- การใช้อุปกรณ์ในการดึงลิ้น เพื่อช่วยทำให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น
- การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม ในการเลื่อนกรามล่างมาทางด้านหน้า จะช่วยทำให้เปิดคอหอยได้มากขึ้น ประสิทธิภาพเต็มที่ของวิธีการนี้จะลดภาวะหยุดหายใจลงได้ 50%
การรักษานอนกรนไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกันนะคะ เพื่อนๆคงจะเห็นแล้วว่ามีทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินของตัวเราเองทั้งนั้นเลย ใครที่มีปัญหาเหล่านี้ทุกทางมีทางแก้เสมอค่ะ สู้ๆค่ะ