ทุกคนคงรู้กันแล้วว่าส่วนไหนของบ้านที่รับแสงแดดและความร้อนมากที่สุด ยาวนานที่สุด?
ก็หลังคานั่นเอง เนื่องจากตำแหน่งของหลังคาเป็นตำแหน่งที่สูงสุด ไม่มีร่มเงามาบังแดด
นอกจากเก็บสะสม แล้วยังแผ่ความร้อนนั้นเข้ามาในบ้านในช่วงเวลากลางคืนอีกต่างหาก หลังคาจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ความร้อนสามารถผ่านเข้ามาในบ้านได้มาก และผ่านได้ง่าย
ซีรีย์บ้านเย็นจากงานเสวนาเรื่อง “ออกแบบดี เลือกวัสดุเป็น บ้านเย็นสบาย” ที่ทาง SCG Experience จัดขึ้น ผศ. ดร. อรรจน์ เศรษฐบุตร วิทยากร ก็พูดถึงเรื่องการป้องกันความร้อนจากหลังคาเอาไว้
การป้องกันปัญหาความร้อนจากหลังคาที่อาจารย์อรรจน์แนะนำให้ทำได้ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างบ้าน คือ การออกแบบช่องลมระบายอากาศจากใต้หลังคาออกไปสู่ภายนอก เช่น ช่องลมบริเวณจั่วหลังคา หรือเพิ่มระแนงตรงชายคา ก็จะช่วยระบายความร้อนที่ลงมาจากหลังคาออก ก่อนที่ความร้อนจะแผ่เข้าไปในตัวบ้าน ความร้อนที่จะเข้าไปในตัวบ้านก็จะลดน้อยลง บ้านที่สร้างใหม่เดี๋ยวนี้ก็มักจะมีการเตรียมเรื่องการลดความร้อนจากใต้หลังคาเอาไว้ ใครที่กำลังจะซื้อบ้าน ก็อาจจะลองดูรายละเอียดเรื่องหลังคา ชายคา และการกันความร้อนจากหลังคาจากทางบริษัทดู หรือใครที่สร้างบ้านเอง ก็ควรบอกความต้องการนี้ให้กับสถาปนิกหรือผู้รับเหมาให้ทราบด้วย
นอกจากเรื่องช่องลม ระแนง วัสดุและสีของหลังคาเองก็มีส่วนในการลดความร้อนที่จะเข้ามาในตัวบ้านได้ด้วย (เราจะพูดเรื่องนี้ให้ละเอียดในบทความต่อไป) กระเบื้องหลังคาบางยี่ห้อจะมีการเคลือบสารพิเศษหรือใช้วัสดุที่สะท้อนความร้อนให้มากขึ้นและดูดซับความร้อนให้น้อยกว่าวัสดุชนิดอื่น ส่วนสีของตัวหลังคาเองก็มีผลเช่นกัน เป็นที่รู้กันว่า สีอ่อน ย่อมสะท้อนความร้อนมากกว่า และสีเข้ม จะดูดความร้อนได้มากกว่า
ส่วนบ้านที่สร้างแล้ว ถ้าจะให้ไปแก้ไขหลังคา คงจะเป็นเรื่องใหญ่โตเกินไป สิ่งที่สามารถทำได้ในหลายบ้านคือการติดตั้ง ฉนวนกันความร้อน (คลิกเพื่ออ่านบทความเกี่ยวกับ ฉนวนกันความร้อน ชนิดต่างๆ) และถ้าจะดูรายชื่อฉนวนกันความร้อนชนิดต่าง ก็เข้าไปดูได้ที่ หลังคาและฉนวนกันความร้อน